บ้านพักทรงไทย
สถาปัตยกรรมไทยเป็นหนึ่งในเอกลักษณ์ไทยที่สะท้อนภาพ
ชีวิตแบบไทย ทั้งในด้านความเป็นอยู่ ทัศนคติ ค่านิยม และความเชื่อม
โดยเฉพาะในเรื่อง "บ้าน" หรือ "เรือน"
ซึ่งเป็นสถานที่ที่ผูกพันมาตั้งแต่เกิด
แม้ว่าปัจจุบันการดำเนินชีวิตและรูปลักษณ์ของบ้านจะแปรเปลี่ยนไป
แต่หากมองกันอย่างลึกซึ้งแล้ว ชีวิตในบ้านของคนไทยยังไม่เคยเปลี่ยน
ซึ่งค่านิยมบางประการยังคงดำเนินการสืบทอดจากคนรุ่นหนึ่งสู่คนอีกรุ่นหนึ่ง
อย่างต่อเนื่อง อย่างไรก็ตาม
บ้านมิได้มีความหมายเพียงเป็นที่อาศัยนอนในตอนกลางคืนและออกไปทำงานตอนเช้า
เท่านั้น แต่บ้านคือที่อยู่อาศัยของครอบครัวที่มีชีวิตชีวา
มีความรักและความอบอุ่นเป็นที่พึ่งในทุกโมงยามที่ต้องการ
บ้านจึงเป็นที่ที่คนอยากให้เป็นสิ่งที่ดีที่
สุดในชีวิตสิ่งหนึ่ง
บ้านไทยหรือเรือนไทยในความคิดของคนทั่วไปคงเป็นภาพบ้านไทยภาคกลาง
ที่เป็นบ้านไม้ชั้นเดียวใต้ถุนสูง มีหลังคาแหลมสูงชัน ประดับด้วยตัวเหงา
มีหน้าต่างบานสูงรอบ ๆ ตัวบ้านอาจเป็นบ้านเดี่ยว หรือเป็นกลุ่มบ้านก็ได้
ลักษณะของบ้านไทยดังกล่าวชี้ชัดให้เห็นถึง
ภูมิปัญญาของคนโบราณ ทั้งช่างปลูกบ้านและช่างออกแบบ
ที่ปลูกบ้านเพื่อนประโยชน์และความต้องการใช้สอย และแก้ปัญหาของผู้อยู่อาศัย
เป็นแบบบ้านที่สวยงาม มีเอกลักษณ์เฉพาะตัว
บ้านไทย
จึงเป็นหนึ่งในเอกลักษณ์ของชาติและเป็นหนึ่งในภูมิปัญญาอันน่าภูมิใจ
คนไทยส่วนใหญ่นับถือศาสนาพุทธ ประเทศไทยอยู่ในภูมิประเทศเขตร้อน
พื้นที่เป็นที่ราบลุ่มและอยู่ในเขตมรสุม จึงมีฝนตกชุกในหน้าฝน
บางทีหรือเกือบทุกปีจะเกิดน้ำท่วม คนไทยส่วนใหญ่ประกอบอาชีพเกษตรกรรม
ทั้งทำสวน ทำนา ทำไร่ ทำประมง
แม่น้ำลำคลองจึงเปรียบเสมือนเส้นโลหิตหล่อเลี้ยงชีวิต
ที่นี่จึงเป็นทั้งแหล่งอาหาร แหล่งพักผ่อน และเป็นเส้นทางคมนาคม
คนไทยภาคกลางจึงนิยมปลูกบ้านอยู่ริมฝั่งน้ำสายเล็กสายน้อย
เมื่อยามน้ำหลากน้ำก็จะไหลท่วมบ้านเรือน
คนไทยแต่ก่อนไม่รู้จักการถมที่ดินหนีน้ำท่วม จึงปลูกบ้านชั้นเดียวใต้ถุนสูง
ซึ่งให้ประโยชน์หลายด้าน ทั้งช่วยให้ลมผ่านสะดวก
ทั้งเพื่อความปลอดภัยจากสัตว์ร้าย หรือคนร้ายในยามค่ำคืน
และยังเป็นการป้องกันน้ำท่วมถึงตัวบ้านอีกด้วย
ใต้ถุนบ้านนี้ในยามปกติอาจใช้เป็นที่สันทนาการของครอบครัวคือ
เป็นที่พักผ่อน หรือที่เล่นของเด็ก ๆ หรือใช้รวมกลุ่มทำกิจกรรมต่าง ๆ เช่น
ทอผ้า ตั้งเตาหรือกระทะทำขนมกวนต่าง ๆ และไว้เก็บสิ่งของทั้งใหญ่และเล็ก
ยามเมื่อน้ำหลากมาก็ย้ายสิ่งของเครื่องใช้ต่าง ๆ
จากใต้ถุนขึ้นไว้บนตัวเรือน ใต้ถุนที่ยกสูงนี้
นิยมให้สูงกว่าระดับศีรษะคนยืน เพื่อให้เดินได้สะดวก
ดังที่กล่าวแล้วว่าประเทศไทยอยู่ในเขตร้อน แสงแดดจัดจ้า
อากาศโดยทั่วไปจึงร้อนถึงร้อนจัด โดยเฉพาะในหน้าร้อน
บ้านจึงเป็นสถานที่ให้ความร่มเย็นแก่ผู้อยู่อาศัย
ภูมิปัญญาของการปลูกบ้านไทยคือ การออกแบบให้เป็นหลังคาทรงสูง
เพื่อให้อากาศภายในเบาลอยตัวอยู่
ขณะที่ความร้อนจะถ่ายเทสู่ตัวบ้านหรือภายในห้องได้อย่างช้า ๆ
เนื่องจากระยะความสูงของหลังคาทำให้ภายในตัวบ้านเย็นสบาย
แม้จะมีห้องและฝากั้น แต่ก็มีพื้นที่เพียง 40% ที่เหลืออีก 60%
เป็นชานเปิดโล่ง ทำให้ลมพัดผ่านได้สะดวก
ทั้งลมจากใต้ถุนสูงที่พัดขึ้นมาข้างบนก็เป็นอีกทางหนึ่งที่สายลมเย็นจะพัด
ผ่านในบ้านตลอดเวลา
ลักษณะอีกอย่างหนึ่งของบ้านไทยที่แสดงให้เห็นถึงภูมิปัญญาในการแก้ปัญหา
อากาศร้อนคือ การสร้างชายคาหรือไขรา
ให้ยื่นยาวออกคลุมตัวบ้านมากกว่าบ้านทรงยุโรป
เป็นการป้องกันแดดไม่ให้เผาฝาบ้านให้ร้อน ป้องกันฝนสาด แดดส่อง
ห้องจะได้เย็นตลอดทั้งวัน
องค์ประกอบอื่น ๆ ที่ทำให้บ้านไทยเป็นบ้านที่ร่มเย็นคือ
"ความโปร่ง" ซึ่งเกิดจากการออกแบบฝาบ้านให้มีอากาศผ่านได้ เช่น ใช้ฝาสำหรวด
หรือฝาขัดแตะ หน้าจั่วของบ้านทำเป็นช่องโปร่งให้ลมผ่านได้
ลักษณะเด่นชัดอีกประการของบ้านไทยคือ
รูปทรงบ้านที่มีระเบียบเรียบง่ายไม่ซับซ้อน จะแลเห็นได้ตั้งแต่ชานหน้าเรือน
ซึ่งเป็นพื้นที่เปิดโล่งรับลม คนนั่งจากชานเรือนจะมองเห็นมุมกว้าง
ทำให้รู้สึกโล่งโปร่งใจโปร่งตา ถัดจากชานเข้ามาเป็นระเบียงที่ใช้รับรองแขก
จัดงานตามประเพณีนิยม หรือคติทางศาสนา เช่น ทำบุญเลี้ยงพระ โกนจุก แต่งงาน
ตากอาหารแห้ง และที่นอนชานมักใช้ปลูกไม้กระถาง วางอ่างน้ำ
ปลูกตะโกดัดและบอนไซ ซึ่งคนแต่ก่อนนิยมปลูกต้นไม้ใส่กระถางไว้เชยชม
และอาจจัดมุมใดมุมหนึ่งของนอกชานในที่ลับตาคนเป็นที่อาบน้ำก็ได้
ในเสภาเรื่องขุนช้างขุนแผนตอนขุนแผนขึ้นเรือนขุนช้างเพื่อไป
ลักพาตัวนางวันทองเมียรักกลับคืนมานั้น บรรยายบรรยากาศบนชานเรือนของขุนช้าง
ซึ่งเป็นคหบดีเมืองสุพรรณไว้น่าดูนัก อ่านแล้วรู้สึกรื่นรมย์
บอกไม่ถูกทีเดียว
โจนลงกลางชานร้านดอกไม้
|
ของขุนช้างสร้างไว้อยู่ดาษดื่น
|
รวยรสเกสรเมื่อค่อนคืน
|
ชื่นชื่นลมชายสบายใจ
|
กระถางแถวแก้วเกตพิกุลแกม
|
ยี่สุ่นแซมมะสังดัดดูไสว
|
สมอรัดตัดทรงสมละไม
|
ตะขบข่อยตั้งไว้จังหวะกัน
|
ตะโกนาทั้งกิ่งประกับยอด
|
แทงทวยทอดอินพรหมนมสวรรค์
|
บ้าวผลิดอกออกช่ออยู่ชูชัน
|
แสงพระจันทร์จับแจ่มกระจ่างตา
|
ยี่สุ่นกุหลาบมะลิซ้อน
|
ซ้อนชู้ชูกลิ่นถวิลหา
|
ลำดวนยวนใจให้ไคลคลา
|
สายหยุดหยุดช้าแล้วยืนชม
|
ถัดถึงกระถางอ่างน้ำ
|
ปลาทองว่ายคล่ำเคล้าคลึงสม
|
พ่นน้ำดำลอยถอยจม
|
น่าชมชักคู่อยู่เคียงกัน
|
หากมีพื้นที่รอบ ๆ บ้าน
ก็นิยมปลูกไม้ใหญ่หลายชนิดไว้ให้ร่มเงา
เรือนบางหลังยังเปิดช่องตรงกลางชานไว้ปลูกไม้ยืนต้น
เพื่อให้ร่มเงาบริเวณชานเรือนอีกด้วย
ฝีมือช่างไทยที่เด่นชัดอีกอย่างหนึ่งที่ปรากฎในเรือนไทยคือ การไม่ใช้ตะปู
แต่จะตรึงติดด้วยลิ้นไม้เข้าเดือย ตั้งแต่การตรึงติดของจั่วและคาน
จนถึงการทำบันไดบ้าน
ในการปลูกบ้านไทยยังแฝงคติความเชื่อของเรื่องการวางทิศทาง
การให้ความสำคัญของไม้แต่ละชิ้นที่ใช้
ซึ่งมีพิธีทำขวัญเสาสำหรับผีที่ปกปักรักษาต้นไม้ที่ถูกตัดมา
การเรียกชื่อไม้ที่เป็นโครงสร้างบ้านก็เรียกด้วยความเคารพ
ซึ่งแสดงถึงการให้เกียรติและให้ความสำคัญต่อทุกสรรพสิ่งรอบ ๆ ตัว
และทั้งหมดนี้เกิดจากลุ่มลึก และภูมิปัญญาของช่างโบราณของไทยอย่างแท้จริง
ที่มา http://www.ku.ac.th/e-magazine/may48/know/home.html